เกริ่นนำ

ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Ideas for Thailand ครับ Blog นี้มีัวัตถุประสงค์เพื่อเป็นคอลเลคชั่นที่รวบรวมและแบ่งปัน "นวัตกรรมทางความคิด" ในด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อสังคมในระดับมหภาคจากนักคิดเชิงนวัตกรรมสมัครเล่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นไอเดียสำหรับนำไปปรับใช้พัฒนาประเทศไทยของเรา ขอเชิญร่วมแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดกันนะครับ

ฟุตบาทย้าวยาววววว (Yaw Yaw Footpath)

Ideas for Thailand: ไอเดียประเทศไทย # 9

จะดีไหมถ้าเรามีฟุตบาทยาว ๆ ให้เดิน ให้วิ่ง  และยังช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดกับคนเดินเท้าและผู้ขับขี่ยวดยาน
ปัจจุบันปัญหาของผู้ใช้ฟุตบาทไม่ว่าจะเป็นคนเดินถนนหรือคนขี่จักรยาน คือมีอุปสรรคมากมายกีดขวางบนฟุตบาท ไม่ว่าจะเป็นหาบเร่ แผงลอย ตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า รถยนต์มอเตอร์ไซค์ที่ใช้ฟุตบาทเป็นถนนหรือที่จอดรถ หลุมบ่อ ผ้าใบกันสาด และ น้ำทิ้งที่ต่ออกจากจากอาคารพาณิชย์ริมทาง ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบคือ ฟุตบาทมีทางขึ้นลงมากเกินไปไม่ยาวต่อเนื่อง บางแห่งฟุตบาทสั้นเพียงแค่ 50 เมตร ก็ต้องขึ้น ๆ ลงๆ บ่อย ๆ ทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้รถเข็น ผู้ขับขี่จักรยาน และคนเดินเท้าที่อาจเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มจากการต้องคอยขึ้น ๆ ลง ๆ ฟุตบาท

ฟุตบาทตามท้องถนนเมืองไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีทางลาด และยังขาดตอนเป็นระยะ ๆ ตามจำนวนบ้านพักอาศัยริมถนนและซอยเล็กซอยน้อย
วิธีแก้ไขดำเนินการ: 
ทำฟุตบาทให้มีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยเริ่มทำเป็นตัวอย่างที่ถนนบางสายก่อน โดยฟุตบาทต้องสูงในระดับเดียวกันตลอดสาย ยกเว้นฟุตบาทที่มีถนนหลักสายใหญ่ตัดผ่าน ส่วนถนนเล็ก ๆ หรือซอยและทางเข้าออกห้างร้านบ้านเรือนต่างๆ  ถ้าจะทำทางออกจะต้องยึดระดับฟุตบาทเป็นหลัก ถ้าตั้งอยู่ในที่สูงกว่าฟุตบาท ก็ต้องทำลงมาให้เสมอฟุตบาท ถ้าต่ำกว่าก็ต้องทำ slope ขึ้นมาให้เสมอฟุตบาท

วิธีดังกล่าวเป็นการผสานทางม้าลา่ยและ "เนินสะดุด" ซึ่งเป็นนวัตกรรมถนนในซอยที่ปรากฏเฉพาะในเมืองไทยเข้าด้วยกัน เมื่อทำไว้ที่ปากซอย นอกจากคนเดินถนนจะได้ฟุตบาทที่ต่อเนื่องและมีความปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการชะลอความเร็วรถที่เข้าสู่ถนนหลักและเข้าซอย ซึ่งจะืทำให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่ด้วย
สามารถประยุกต์แนวคิดนี้ไปใช้กับทางฟุตบาทหน้าปากซอย

รถที่ออกสู่ถนนใหญ่จะชะลอความเร็ว ปลอดภัยทั้งคนเดินถนน ปลอดภัยทั้งผู้ขับขี่ยวดยาน
 ผลที่น่าจะเกิดขึ้น: 
1) ฟุตบาทจะมีความยาวต่อเนื่องมากขึ้น ผู้เดินบนฟุตบาทจะได้รับความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น
2) ฟุตบาทสามารถใช้วิ่งออกกำลังกายได้ ใช้ขี่จักรยานสันทนาการได้ และคนอยากเดินบนฟุตบาทมากขึ้น
3) เป็นการทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนตระหนักว่าคนเดินเท้าต้องมาก่อนเสมอ เนื่องจากการทำทางออกมาสู่ถนนใหญ่จะต้องยึดระดับของฟุตบาทเป็นเกณฑ์
4) ทำให้รถที่ออกมาจากซอยชะลอความเร็วลงก่อนออกไปถนนหลัก และรถที่จะเข้าซอยชะลอความเร็วลงเพื่อระวังคนและรถที่อยู่ในมุมอับ
5) ฟุตบาทที่สร้างไว้จะไม่ต้องถูกรื้อเพื่อทำทางออกใหม่ ประหยัดงบประมาณของประเทศ

ยกระดับฟุตบาทให้อยู่ในแนวเดียวกัน จะได้ฟุตบาทที่ยาวต่อเนื่องเหมาะกับการเดิน ขี่จักรยาน ออกกำลังกาย
หมายเหตุ/อื่นๆ: 
สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปเพื่อให้ฟุตบาทน่าเดินคือ
1) จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ถ้าจะผ่อนผัน ก็ต้องให้มีเพียงด้านเดียวของฟุตบาท ห้างร้านริมทางเดินต้องไม่เบียดบังพื้นที่ริมฟุตบาท มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ ตู้โทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ต้องกวดขันเด็ดขาดให้ออกไปจากฟุตบาท
2) กล้องวงจรปิดสำหรับการจราจร ต้องให้เห็นทั้งถนนใหญ่และฟุตบาทด้วย จะได้คอยสอดส่องดูแลผู้ที่ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์บนฟุตบาท
3) จัดระเบียบกันสาด ของแผงลอยที่กีดขวางฟุตบาท รวมไปถึงท่อน้ำทิ้งจากหลังคา ต้องต่อลงท่อใต้ดินไม่ใช่ต่อท่อน้ำทิ้งลงมาที่ฟุตบาทใส่หัวคนเดินถนน
4) ปรับกฏหมายให้อภิสิทธิ์แก่ผู้เดินเท้าสำคัญที่สุด รองลงมาเป็นจักรยาน สำหรับรถที่ออกจากซอยต้องหยุดให้ทางคนเดินบนฟุตบาทเสมอ

No comments: